http://www.jozho.net
   
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 19/11/2007
ปรับปรุง 05/10/2024
สถิติผู้เข้าชม14,704,559
Page Views22,815,243
Menu
หน้าแรก
งานบรรยายโดยโจโฉ
เกี่ยวกับ&ที่มา..โจโฉ
ตัวอย่างภาพกิจกรรม
รวมเสียงโจโฉ
สนับสนุนโจโฉ
บทความโดยโจโฉ
ติดต่อโจโฉ
เลือกดาวน์โหลด
แนะนำ
มาใหม่ล่าสุด
บอกเล่าเก้าสิบ
สวดมนต์ สมาธิ
Video ธรรม
ข่าวร้อน
.
 

ขั้นตอนวิธีอัดเสียง

ขั้นตอนวิธีอัดเสียง

การอัดเสียงด้วยคอมฯที่บ้าน แต่ได้คุณภาพใกล้เคียงห้องอัด ปราศจากเสียงรบกวน

 

จุดเด่นคือ  ทำงานง่าย ทำที่บ้านได้ไม่ต้องไปห้องอัด ไม่ต้องกังวลกับเสียงรบกวน

ไม่ต้องบุผนังห้องใหม่ ไม่ต้องปิดแอร์  และอุปกรณ์ก็ราคาไม่แพง คอมเสปคต่ำๆ ก็ทำได้

 

เพื่อให้ได้ผลดีเหมือนตัวอย่างเสียงที่ผมทำ ต้องประกอบไปด้วย

1.เมนบอร์ด ที่มี การ์ดเสียง ออนบอร์ด รุ่น  Realtex  AC’97เท่านั้น

หรือเมน์บอร์ดรุ่นอะไรก็ได้ แต่ต้องใช้ไมค์ USB ยี่ห้อ Samson Q1u (สนใจ search หาเอาเองนะครับ)


2.โปรแกรม WaveLab กับ  Logic  และ Driver sound ของ Realtex  AC’97

 โดยตรงที่มีโปรแกรมจัดการเสียงพ่วงมาด้วย (ถ้าใช้แซมซั่นไม่ต้องมีไดรฟ์เวอร์ตัวนี้)

3. วินโดวส์ที่แนะนำคือ XP รุ่นเดิมๆ ไม่ปรับแต่ง sp2 หรือ ME 

(xp ถ้าเป็นแบบ mini จะดีมาก ไม่หนักเครื่อง)

สำหรับคนที่ใช้ win 7 ซึ่งผมก็ใช้อยู่ ผมจะใช้ลง Viturlbox แล้วลง xp ซ้อนใน win7 อีกที และทำงานในนั้นครับ

สำหรับการลง xp ซ้อนใน win 7  ผมมีเป็นไฟล์สำเร็จรูป เอาไว้มีเวลาค่อยมาแนะนำให้

ซึ่งใช้เวลาแค่ไม่ถึง 5 นาที ก็จะได้ทุกอย่างพร้อมอัดเสียงเลยครับ  

(ปกติ เวลาไปสอน หรือไปลงโปรแกรมให้ ก็จะใช้เวลาแป๊บเดียว )

 

(ถ้าไม่มีเมนบอร์ดรุ่นนี้หรือไม่มีไมค์แซมซั่น ก็ทดลองใช้โปรแกรมได้ ทำได้เหมือนกัน

แต่คงไม่เนียนเท่า แต่ก็ได้ระดับหนึ่งที่ดีกว่าอัดตามปกติก็แล้วกัน ถ้าปรับเป็นนะ)

 

* ก่อนอื่นต้องดาวน์โหลดไฟล์นี้ก่อน 3 ไฟล์ ที่นี่(คลิ๊ก)*

เปิดหน้าต่างมาแล้วเลื่อนลงไปข้างล่างสุดนะครับ โหลดไฟล์ที่เป็น .rar ทั้งหมด

โดยคลิ๊กขวาที่ชื่อไฟล์แล้วเลือก save target as  ให้ได้ไฟล์เหมือนชื่อด้านล่างนะ

Steinbergpreset.rar (พรีเซทของ เวฟแลป)

logicpreset.rar (พรีเซทของลอจิก)

pro1jasdfghjklasdfghjkl.rar (ไดร์ฟเวอร์ของ AC97)


โปรแกรม Logic 5.5.1  กับ Wave lab 4 หาโหลดใน Google นะครับ  

โหลดมาได้ครบตามชื่อข้างบนแล้ว ก็แตกไฟล์ลงในพื้นที่ว่าง ตรงไหนก็ได้ จะอธิบายในตอนต่อไป

 

กรณีที่เมนบอร์ด คอมฯของคุณ ไม่มีการ์ดเสียงรุ่นนี้ คุณภาพก็จะแตกต่างไปมาก แต่ก็ยังพอจะทำงานได้ เพียงแต่ไม่สามารถตัดเสียงรบกวนได้เคลียร์สนิทเท่ากับเมนบอร์ด รุ่นที่แนะนำ  ซึ่งรุ่นนี้จะตัดเสียงได้ค่อนข้างสนิท ด้วยหลักการทำงานประมวลผลเสียงรอบข้างแล้วตัดแบบสนิท เสียงอากาศ เสียงอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไปจากระยะของไมค์(รัศมีวงกลมรอบไมค์ไม่กี่นิ้ว)  ถ้าไม่ดังมากจะถูกตัดออกเกือบหมด  เช่นตัวอย่างที่ผมอัด ผมอัดในห้องนอน ซึ่งใช้แอร์มุ้งที่เสียงพัดลมดังมาก เสียงพัดลมคอมก็ดังมาก  ห้องอยู่ใกล้ถนน เสียงรถวิ่งผ่าน หมาเห่า คนขายของ .. เชื่อหรือไม่ว่า ทุกเสียงไม่เข้าไมค์เลย เงียบสนิท ยกเว้นดังมากจริงๆ ก็จะเข้ามาเล็กน้อย  ที่เคยเข้าจริงๆ ก็เสียงตอกอะไรดังๆ หรือฟ้าผ่านั่นแหละ ถึงเข้าไปพร้อมไมค์ จนฟังสังเกตุได้  นอกนั้น ค่อนข้างสนิท  ทำให้การอัดเสียงง่ายมาก ไม่ต้องกังวลเรื่องเสียงรบกวนต่างๆ   ทดสอบอัดเสียงที่ร้านคอม ที่เปิดเพลงอยู่ห่างๆ ไปด้วย เสียงเพลงยังไม่เข้าไมค์เลย  ฯลฯ 

 

ปกติ เมนบอร์ดรุ่นนี้จะเป็นรุ่นเก่า ซึ่งยังพอจะหาซื้อได้จากของมือสอง หรือเมนบอร์ดมือหนึ่งของจีน ที่ยังพอมีขายอยู่ที่เซียร์ รังสิต หรือห้างอื่นๆ ตามแต่ท่านจะหาได้  ของมียี่ห้อ ก็อย่างเช่น ของ กิ๊กกาไบท์ ซึ่งรุ่นเก่าๆ จะใช้ การ์ดเสียงรุ่นนี้เกือบทั้งหมด  เมนบอร์ดในปัจจุบัน จะเป็นแบบ Hi Audio หมดแล้ว ถึงจะเป็น Realtex ก็จะเป็นรุ่นที่เป็น Hi ทั้งหมด  ซึ่งจะขึ้นให้เป็น Realtex HD Audio Output  ถ้ารุ่นนี้จะใช้ไม่ได้นะครับ ตัดเสียงรบกวนได้เหมือนกัน แต่ดันไปตัดความถี่เสียงไปด้วย ทำให้เสียงออกมาเหมือนวิทยุ AM

 

กรณีที่หาเมนบอร์ดที่มีการ์เสียงรุ่นนี้ไม่ได้ ก็สามารถทดแทนกันได้ด้วยไมค์ Samson Q1u  ซึ่งจะให้ผลไม่ต่างกันเท่าไหร่ จะต่างกันแค่ ไมค์แซมซั่นอัดได้เสียงดี แต่ถ้ามีเสียงรบกวนภายนอกจะเข้าไมค์ได้มากกว่า การใช้เมนบอร์ดรุ่นที่แนะนำ  ถ้าใช้เมนบอร์ดทีว่า รถวิ่งผ่าน หมาเห่า ก็ยังอัดเสียงต่อได้ แต่แซมซั่นจะมีเสียงเข้าไปบ้าง แต่ถ้าผ่านโปรแกรมกรองเสียงที่จะแนะนำให้ ทำดีๆ ก็แทบไม่ต่างกันเท่าไหร่ 

 

ใครที่อยากอัดเสียงเป็นประจำ สำหรับคนที่ต้องการแบบเมนบอร์ด AC97 ก็ไปหาซื้อเอาใหม่ได้ ราคาไม่รวมจอจะอยู่ที่ประมาณ 4000 บาท บวกลบแล้วแต่ว่าช่วงไหนของขึ้นลง แต่เท่าที่ดูซื้อร้านอื่นอาจแพงกว่านี้มาก ผมซื้อที่ร้าน AJ com ชั้น 3 เซียร์รังสิต เป็นเมนบอร์ดของจีน 

 

ปกติถึงจะเป็นออนบอร์ดที่มีการ์ดเสียง เป็น Realtex AC’97 ก็ตาม แต่ให้เลือกรุ่นเมนบอร์ดที่ใช้กับแรม DDR2 นะ  เพราะลองเอารุ่นที่ใช้กับ DDR1 มาทดสอบ ปรากฎว่า ไม่สามารถตัดเสียงรบกวนได้เหมือนกัน คงจะเป็นรุ่นเก่าเกินไป   แต่สำหรับใครที่มีคอมที่มีการ์ดเสียงรุ่นนี้อยู่แล้ว ก็ถือว่าโชคดีครับ ส่วนใครไม่มีแล้วคิดว่าไม่อยากยุ่งยาก ก็แนะนำให้ซื้อไมค์ Samson Q1u มาใช้ เพราะถือว่าคุณภาพใกล้เคียงและบางรูปแบบจะออกมาดีกว่าการใช้เมนบอร์ดด้วยซ้ำ  แต่อย่างที่บอกแต่แรกว่า เมนบอร์ดน่าจะเหมาะสำหรับสถานที่ ที่มีเสียงรบกวนเยอะมากจริงๆ  ถ้าไม่มากเท่าไหร่ แค่เสียงอากาศเสียงลม เสียงแอร์  ก็ถือว่า Samson Q1u ดีกว่าครับ ฟังได้จากเสียงอ่านหนังสือหลวงตา ผมอัดในสภาพแวดล้อมเดียวกัน กับแว่วเสียงสวรรค์ แต่เสียงออกมาคนละแบบกันเลย    เรามาเริ่มต้นการเตรียมพร้อมการอัดเสียงกันเลยดีกว่า คลิ๊กเพื่ออ่านวิธีการทีละขั้นตอนดังนี้

1.ลงไดร์ฟเวอร์ AC97 realtex และปรับให้ไมค์ตัดเสียงรบกวน(คลิ๊ก) 

pro1jasdfghjklasdfghjkl.rar (ไดร์ฟเวอร์ของ AC97)

 

2.ลงโปรแกรมเวฟแลป(คลิ๊ก)   ชื่อไฟล์ pro2jasdfghjklasdfghjkl.rar

3.ลงโปรแกรมโลจิก(คลิ๊ก)   ชื่อไฟล์ pro3jasdfghjklasdfghjkl.rar 

4.ตรวจเช็คการ์ดเสียงและปรับค่าต่างๆ(คลิ๊ก)

5.ลงพรีเซ็ทสำหรับเวฟแลป(คลิ๊ก)  ไฟล์ชื่อ Steinbergpreset.rar(พรีเซท )

6.เริ่มต้นการใช้เวฟแลป(คลิ๊ก)

7.เริ่มต้นการอัดเสียง(คลิ๊ก)

8.วิธีเซทไมค์ก่อนอัด(คลิ๊ก)

9.ขั้นตอนแรกหลังอัดเสียงเสร็จ(คลิ๊ก)

10.ขั้นตอนสอง ปรับปรุงเสียง(คลิ๊ก)

11.ขั้นตอนสาม การตัดต่อด้วยเวฟแลป(คลิ๊ก)

12.ขั้นตอนสุดท้าย ปรับแต่งจาก โลจิก(คลิ๊ก) ไฟล์ชื่อนี้ logicpreset.rar (พรีเซท)

 

 

  

เทคนิคการอ่าน

 

การอัดเสียงอ่านจะมีหลายรูปแบบ คร่าวๆ คือ

1.อัดแบบเป็นทางการ  วิธีนี้จะเหมาะกับ การอัดบทความที่ต้องการความน่าเชื่อถือ  บทความเพื่อแสดงความเคารพ หรือบทความที่เป็นลักษณะเป็นทางการหน่อย   น้ำเสียงต้องให้ดูนิ่งๆ  สุภาพ การออกเสียงค่อนข้างจะต้องตรงกับการเขียนซึ่งต่างจากภาษาพูด  ฟังแล้วให้รู้สึกถึงความจริงจัง  ลักษณะคล้ายนักข่าวอ่านข่าว หรือไตเติ้ลประกอบพิธีการ หรือบทกล่าวนำต่างๆ

2.อัดแบบภาษาพูด  วิธีนี้เหมาะสำหรับการอัดเรื่องเล่า เรื่องสั้น หรือบทความที่ไม่เป็นวิชาการหรือทางการมากนัก  มีการใส่อารมณ์เสมือนจริง เหมือนเจอเหตการณ์มาด้วยตนเอง แล้วกำลังเล่าให้คนใกล้ชิดฟัง  สามารถดัดแปลงภาษาเขียนให้เป็นภาษาพูด  แล้วเติมคำบางคำไปแทนสัญลักษณ์บางอย่าง เช่น วงเล็บ  เครื่องหมายในคำพูด ฯลฯ

3.กึ่งทางการกึ่งภาษาพูด  คือนำทั้งสองมาผสมกัน ส่วนใหญ่จะเป็นบทความที่กึ่งวิชาการกึ่งเรื่องเล่า หรือการแนะนำ   จะอ่านด้วยน้ำเสียงที่ดูจริงจัง เรียบๆ ในเนื้อหาบางส่วน และบางส่วนจะอ่านคล้ายกับผู้เขียนมาเล่าด้วยตนเอง  เป็นการผสมผสานกัน มักใช้กับหนังสือที่ค่อนข้างไปทางเชิงวิชาการหรือ เป็นเรื่องเล่าของบุคคลที่น่าเคารพ ฯลฯ

 

แต่ไม่ว่าจะรูปแบบไหน ก็จะไม่ต่างกันมาก คือต้องให้มีน้ำหนัก  มีจังหวะจะโคน ฟังแล้วไม่แข็งโป๊ก ไม่อ่านเป็นหุ่นยนต์  มีการขึ้นเสียงสูงต่ำ มีการลากจังหวะ เว้นจังหวะ ยืดคำ รวบคำ เหมือนตัวโน๊ตดนตรีด้วย ป็นภาษาที่เพราะ อย่าง ล.ลิง เราใส่เหมือนตัวอาร์ ไปได้นิดหน่อย จะน่าฟั

 

วิธีการอัดและออกเสียง

 

ควรหมั่นวอร์มริมฝีปากและปอดบ่อยๆ  เช่น เป่าลมแล้วปิดปากไว้หลวมๆ  ให้ริมฝีปากบนล่างสั่นๆ  การฝึกหายใจอย่างการหายใจ 3 จังหวะแบบโยคะ เพื่อให้ร่างกายสามารถกักเก็บลมได้มากขึ้น ลองฝึกง่ายๆ ได้ก็คือ  หายใจเข้าท้องพอง กลั้นหายใจไว้ห้ามลมออก หายใจเข้าไปเพิ่มให้หน้าอกพอง กลั้นหายใจไว้ แล้วหายใจเติมเข้าไปใหม่ ให้หัวไหล่ยกขึ้น  กลั้นลมหายใจไว้ ดันทั้งหมดลงไปที่ท้อง แล้วค่อยหายใจออกช้าๆ ปล่อยลมออกทางปาก  ทั้งสามจังหวะทำให้เหมือนเป็นคลื่นอย่างต่อเนื่อง   ฝึกบ่อยๆ จะเก็บลมได้เยอะ ทำให้มีแรงออกเสียงได้ราบเรียบ และไม่เหนื่อยง่าย

 

นอกจากนี้ ควรฝึกออกเสียงให้น่าฟัง  คือ ให้เป็นธรรมชาติ อย่าดัดจริตเกินเหตุ  อาจต้องเปิดคอพูดเล็กน้อยเพื่อให้เสียงก้องกังวาน แต่อย่าเปิดคอจนเวอร์ จนกลายเป็นอาฉี่  พระเอกหนังจีน    ฝึกออกเสียงพยัญชนะให้ชัดเจน  สมัยนี้คนไม่ค่อยสนใจฝึก หลายคนที่ชอบเอาลิ้นออกมาแตะริมฝีปาก ทำให้อ่านพยัญชนะไทยได้น่าเกลียดมากมาย  เหมือนคนลิ้นไก่สั้น ไม่เชื่อ ลองอ่านคำว่า ดูดี แล้วเอาลิ้นยื่นออกมาหรือแตะไว้ที่ฟันนะ  จะเข้าใจว่าหมายถึงอะไร ซึ่งไม่เข้าใจว่าคนสมัยนี้ แม้แต่นักข่าวเกือบทุกช่องก็เป็นกันไปหมดแล้ว  ส.เสือ อีก ก็ดันเอาลิ้นมาแตะที่ฟัน  ช.ช้าง ก็ดันไปควบกับ ตัว ว.แหวน ซะไม่รู้จะกลายสภาพเป็นลูกครึ่งดาวดวงไหนกัน   ร.เรือ ก็กระดกกันเกิน เค้าให้กระดกแค่ 1-2 ชั้นก็พอ นี่พ่อคุณแม่คุณเล่น กระดกรัวซะเป็นคนขเมรเลย  เตรียมปร๊อกกก สะดร๊อกแฮง.. (ไม่มีความหมาย แต่อยากให้เห็นภาพว่า ร.เรือบ้านเรา มันออกนิดๆ พอให้ฟังเพราะ ไม่ใช่ ร.รรรรร. กระดกกันซะลิ้นแพรวพราว จนน่าเกลียด  .. นักข่าวยังเป็นกันเยอะเลย)

 

เราดัดจริตได้ แต่ให้พองาม  อย่าให้น่าเกลียด ยังไงภาษาไทยก็เป็นภาษาที่เพราะ ก็อยากให้ลองฝึกกัน แล้วเวลาอ่านให้คำนึงเสมอว่า  ต้องทำให้เป็นธรรมชาติ ของคนปกติที่ควรจะเป็นมากที่สุด  บางคนพอจะอัด ก็ตั้งท่าจะเป็นนักพากย์หนังมาเลย หรือไม่ก็ออกมาแนวครูอนุบาล  คือดัดจริตจนผิดธรรมชาติมากไป ฟังแล้วมันเลี่ยน

 

เสียงอ่านหนังสือที่ดี คือ ควรจะออกมาเป็นเสียงที่เป็นปกติของมนุษยธรรมดามากที่สุด  หลายคนบอกว่า เสียงฉันก็เสียงธรรมชาตินี่แหละ  แต่หารู้ไม่ว่า จิตของคุณหล่อหลอมให้คุณดัดเสียงของคุณผิดธรรมชาติจนเป็นปกติไปแล้ว เช่น คนอ้วนๆ หลายคนสังเกตไหมว่า  จะชอบทำเสียงเล็กๆ แหลมๆ ดัดขึ้นไป เพื่อจะให้ฟังดูน่ารัก ดูคิกขุ ดูเหมือนเป็นลูกหนูที่น่าทะนุถนอม   นั่นมันเป็นธรรมชาติของจิตที่ต้องการกลบปมด้อยของตนเอง  ธรรมชาติแบบนี้ ก็ควรปรับเสียงให้มันลงมาอยู่ในโทนที่เป็นกลาง ให้มันออกทุ้มๆ  สำหรับผู้หญิง ผมอยากให้จินตนาการ ให้เป็นเสียงของคุณแม่ที่เมตตาต่อลูกนะ  เวลาอัดด้วยฟิวส์นี้ จะได้อารมณ์ และคนฟังจะไม่รู้สึกรำคาญ  ถ้าตั้งจิตไว้อีกอย่าง เหมือนสั่งสอน หรืออะไรก็ตาม คนฟังจะสัมผัสได้ แล้วจะรู้สึกฟังแบบอึดอัด ไม่อยากฟัง ซึ่งธรรมชาติ สังเกตหรือไม่ว่า ผู้หญิงโดยส่วนใหญ่จะชอบฟังเสียงผู้ชายมากกว่า  เพราะผู้หญิงด้วยกันจะมีแรงอิจฉาและต่อต้านเพศเดียวกันอยู่กลายๆ อยู่แล้ว  ประมาณเธอเป็นใครมาสอนฉัน  แล้วธรรมชาติอีกนั่นแหละ ที่เขาต้องโหยหาสิ่งที่ตรงข้าม  ดังนั้นจึงให้วางจิตไว้เหมือนแม่ที่มีเมตตาต่อลูก  ย้ำนะครับว่า เมตตา  บางคนวางจิตผิด มันก็ออกมาแนวว่า เหมือนแม่บังคับลูก ทำให้ฟังแล้วอึดอัดอีกเช่นกัน

 

เรื่องเสียงและภาวะทางอารมณ์สำคัญมาก  ถ้าเราตั้งจิตไว้อย่างไร ในตอนอ่าน จะมีผลต่อผู้ฟังอย่างมาก  ตอนอ่านควรตั้งจิตเมตตาไว้มากๆ เหมือนเรารู้สึกว่า เรื่องนี้ดี เราอยากเล่าให้เพื่อน ให้คนที่เรารักฟัง เราก็เล่าด้วยใจแบบนี้  คนฟังจะรู้สึกได้ และจะฟังแบบมีความสุข  แล้วเสียงอ่านที่เราอ่าน ลองคิดดูว่า ปกติถ้าเราจะเล่าเรื่องอะไรให้เพื่อนหรือคนใกล้ตัวฟัง ถ้าเราอัดเสียงแบบนี้ ท่องเป็นอาขยาน  เสียงโมโนโทนแบบหุ่นยนต์ เพื่อนเราจะอยากฟังไหม เรื่องมันจะสนุกหรือไม่   อัดไปก็จินตนาการไปเลยว่า กำลังมีคนนั่งฟังเราอยู่ แล้วเรารู้เรื่องนี้ กำลังจะเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนๆ หรือคนอื่นๆ ฟัง    ใส่อารมณ์ ให้เหมือนกับกำลังพูดสดๆ 

 

เวลาอัดเสียง เราต้องเปลี่ยนภาษาเขียนให้เป็นภาษาพูดด้วย  ไม่อย่างนั้น จะไม่น่าฟัง ยกเว้นบางคำเท่านั้น ซึ่งต้องใช้ประสบการณ์ในการอัดบ่อยๆ แล้วจะรู้เองว่า คำไหนควรเปลี่ยนหรือไม่ควรเปลี่ยน เช่น

 

อย่างไร  อาจอ่านเป็น ยังไง  (ต้องดูว่า ใครพูดกับใครด้วย)

หรือ   อ่าน เป็น รึ

เสีย  อ่านเป็น เซี๊ยะ

ไหม  อ่านเป็น มั๊ย

เขา อ่านเป็น เค้า

ฉัน อ่านเป็น ชั้น   ฯลฯ

การอ่านแบบนี้ไม่ได้ทำให้บทความเสีย แต่เป็นการอ่านให้น่าฟัง เหมือนภาษาพูด ฟังแล้วจะลื่น

เวลาเจอเครื่องหมายคำพูด  เพื่อความเข้าใจของคนฟัง เราอาจจะอัดเพิ่มเพื่อให้รู้ว่าใครพูดเช่น หลวงตาพูดว่า หรือ หลวงตากล่าวไว้ว่า หรือ หลวงตาเทศน์ไว้ว่า (ในกรณีที่บทความไม่ได้ใส่คำนี้มา ไม่อย่างนั้นคนฟังจะคิดว่า คนเขียนเป็นผู้พูด บางทีบางประโยคอาจจะสับสน เพราะหนังสิอบางเล่มเขียนถึงบุคคลอื่น ถ้าอ่านเองจะเข้าใจว่าใครพูด แต่ถ้าฟังเอา จะสับสนได้ว่า ใครพูดกันแน่ )

กรณีวงเล็บ  ให้ใช้คำอธิบายเพิ่มแทนวงเล็บ อาจเพิ่มคำว่า หรือ และ ซึ่ง และอื่นๆ หรือตัดวงเล็บไปได้เลย เช่น

เหตุแห่งทุกข์(สมุทัย)  ก็อ่าน  เหตุแห่งทุกข์ หรือ สมุทัย

คุณริน (อินโดนีเซีย)  ก็อ่าน คุณริน จากประเทศอินโดนีเซีย

พอถึงโคราช(จำไม่ได้เหมือนกัน ว่ากี่ปีเพราะนานมาแล้ว)  ก็อ่านว่า พอมาถึงโคราชซึ่งก็จำไม่ได้เหมือนกัน ว่ากี่ปี เพราะนานมาแล้ว

 

ยกตัวอย่างแค่นี้ละกัน  อันดับแรก เราต้องอ่านให้เข้าใจก่อน แล้วลองคิดเองว่าควรจะปรับหรืออ่านยังไงให้คนฟังเข้าใจเหมือนกัน โดยที่เราไม่ต้องมาอ่านคำว่า วงเล็บเปิด ปิด  เพราะคนฟังจะงง มากกว่า  ซึ่งในงานแรกๆที่ผมอัด ผมก็อ่านแบบนี้ มีวงเล็บเปิดปิด วุ่นวายไปหมด ตอนหลังเลยเอาออกทั้งหมด  ยกเว้น บางประโยคจริงๆ ที่เราไม่สามารถเติมคำหรือสื่อไปได้ว่า ผู้เขียนต้องการสื่ออะไร ก็อ่านว่า ในวงเล็บ แล้วก็อ่านคำที่อยู่ข้างใน

 

กรณีคำบางคำ ควรอ่านใหม่ หรืออธิบายเสริมไปเลย เช่น ธรรม  ในหลายประโยค ถ้าเราอ่านคำนี้ คนฟังจะไม่เข้าใจ ก็ให้เราอ่านว่า ธรรมะ ซึ่งจะชัดกว่า เพราะไม่อย่างนั้นคนฟังจะคิดว่า เป็นคำว่า ทำ 

 

คำบางคำ เช่น ทาน กับ ธาร   เราอาจจะอ่านแล้วหมายเหตุผู้อ่านลงไปว่า ทานในทีนี้ คือ ทาน ท.ทหาร  นะครับ

 

ในกรณีเราอาจจะต้องอัดเสริม ด้วยคำว่า หมายเหตุผู้อ่าน แล้วก็เพิ่มคำอธิบายเข้าไป ในหลายๆ กรณีที่เราไม่สามารถสื่อได้  ซึ่งคนอัดเสียงอ่าน มักจะเจอบ่อยๆ  เพราะภาษาเขียนกับภาษาพูดมันต่างกัน  เราก็ทำเหมือนเป็นนักข่าวจริงๆ ไปเลย เหมือนหยิบข่าวมาเล่า แล้วอธิบายเพิ่มไปเลย เท่าที่คิดว่าจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ตรงกัน 

 

การอ้างอิงที่มา ที่จะดอกจันไว้  แล้วมาอธิบายด้านล่างของกระดาษ เราควรจะหมายเหตุอ่านไปตรงทีเขาดอกจันเลย  ไม่อย่างนั้นคนจะไม่เข้าใจ

 

 

ถ้าบทความมีคำลงท้าย ก็ควรอ่านเพิ่มไปด้วยเช่น  ลงท้าย  ลงชื่อ.

ท้ายบทความที่อัดเสียง ควรจะอัดเพิ่มไปว่า บทความโดย .(ผู้เขียน)   เสียงอ่าน หรืออ่านโดย .. (คนอ่าน)

เพื่อให้เป็นที่มาที่ไป  หลายครั้งที่ผมลืมอัดแบบนี้ คนก็มักจะคิดว่าผมเป็นคนเจ้าของเรื่องซะเอง

สงสัยจะอัดจนอินไปหน่อย  คงฟังเลยชอบคิดว่าผมเป็นคนนั้น คนนี้  ซึ่งก็ล้วนแต่ผู้เฒ่าทั้งน้านนน

พอมาเห็นรูป ก็ตกใจ เอ.. ทำไมผู้เฒ่าหน้าเด็กมาก  555  แล้วทำไมประสบการณ์ไปรู้เรื่อง เอามาเล่าเยอะจัง  ไหนบอกรุ่นเดียวกับสมภารไง  ก็สารพัดที่คนมาทักทายกับผม   นี่ก็แสดงว่าประสบความสำเร็จเหมือนกันนะครับ เพราะอัดจนคนคิดว่าเราเป็นบุคคลท่านนั้นจริงๆ ไปแล้ว  ดังนั้น จึงแนะนำว่า ทุกครั้งที่อัดบทความอะไรก็ตาม อย่าลืม อัดตอนจบด้วยว่า บทความของใคร แล้วใครเป็นคนอ่าน   จะได้ไม่สับสน

 

สำหรับกรณี บทความหรือหนังสือนั้น ผู้เขียนเป็นคนละเพศกับเรา อย่ากระเสือกกระสนอัดเสียงตามบทความนะครับ เพราะมันจะนำความหายนะทางเพศมาสู่คุณ  555  ผมเองเมื่อก่อนไม่รู้ ก็อัดใส่เต็มที่  หลายบทความ โดยเฉพาะในวาทะดังตฤณ ที่เป็นผู้หญิงสองคนคุยกันซะเป็นส่วนใหญ่  แหม.. ผมก็เอาเลย ค่ะขา นู้น นั่น นี่ ตามบท  ก็ไม่คิดอะไร แต่พอเอามาฟัง  ขำแทบตาย  เพราะมันเหมือนกะเทยคุยกันสองคน  ว่าจะอัดใหม่แล้วให้เอาอันเก่าออกก็ ไม่มีเวลาซะที  ลามมาถึงตอนอัดให้ธรรมะใกล้ตัว ฉบับแรกๆ ที่คนเขียนมักเป็นผู้หญิง   ทุกวันนี้เลยต้องเลิกเผยแพร่ไฟล์ดังกล่าวในซีดี แต่ก็ยังมีในเวปอยู่  

ถ้าเจอแบบนี้ ให้เราเปลี่ยนสรรพนามและคำลงท้ายทั้งหมดเลยนะครับ  แล้วหมายเหตุทั้งก่อนเรื่อง และท้ายเรื่องว่า  เนื่องจากว่า ผู้เขียนเป็นสุภาพสตรี ดังนั้น จีงขออนุญาตเปลี่ยนสรรพนามและคำลงท้าย เพื่อความเหมาะสมกับการอ่านนะครับ  อะไรประมาณนี้    สำหรับผู้หญิงที่อัดบทความของผู้ชาย จะฟังไม่น่าเกลียดเท่าไหร่นะ  เท่าที่เห็น คุณเพ็ญศรี ท่านก็อัดบทความของพระ ของผู้ชายเยอะ  ผู้หญิงอ่านคำว่าครับ ฟังดูไม่น่าเกลียดนะ  ยกเว้นผู้หญิงที่เสียงแปร๋นๆ   แต่ตามธรรมดา ถ้าเป็นบทความของผู้ชายที่เป็นที่น่าเคารพ หรือบุคคลมีชื่อเสียง  หรือพระ ก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปเปลี่ยน คำลงท้ายและสรรพนาม     แต่อย่างของผม ใจก็ไม่อยากเปลี่ยน บางครั้งก็อ่านทับไปบ้าง แต่จะอ่านเหมือนอ่านจริงๆ  ไม่ได้เหมือนเล่าเรื่อง  แล้วก็พยายามหลีกเลี่ยงบทความที่เขียนโดยผู้หญิงเสมอ  แต่พอมาเจอหนังสือหลวงตานี่ เลี่ยงไม่ได้จริงๆ เลยต้องเปลี่ยนสรรพนามและคำลงท้าย ไม่งั้นจะฟังแล้วแขยงตัวเองพิกล ที่ต้องมาค่ะๆขาๆ  ดิชั้น ดิเชิ้น ไรเนี่ย   ถ้าต้องอ่านตามต้นฉบับ ผมว่า ผมเลิกอ่านเลยดีกว่า .. หุๆ

 

มีเทคนิคการอัดและอ่านอีกมาก ที่อธิบายไม่ได้ง่ายๆ แล้วก็นึกไม่ออกในตอนนี้ เพราะกว่าจะทำบทความนี้ออกมาได้ ก็เล่นซะมึนเลย เพราะการอธิบายสิ่งที่เรารู้และมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะๆ ให้คนที่มาใหม่ฟัง มันทำได้ยากจริงๆ   ก็เอาแค่คร่าวๆ แบบนี้ก่อนละกันนะ  อยากแนะนำว่า สำหรับคนที่สนใจการอัดเสียงอ่าน ควรจะหมั่นฟังงานของคนอื่น ที่เขามีประสบการณ์มาเยอะและเป็นที่นิยมของคนจำนวนมากแล้วก่อน   เอามาฟังบ่อยๆ แล้วเปิดหนังสือหรือบทความนั้น แล้วลองอ่านตาม วิธีนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจได้ง่าย ว่าควรจะลงน้ำหนักเสียง ใช้จังหวะจะโคนในการอ่านอย่างไร   อ่านตามต้นฉบับไปนานๆ  ก็จะเคยชิน  แล้วก็จะซึมซับเทคนิคต่าง ๆได้ไม่ยากครับ   สำคับคือต้องหมั่นฝึกฝน  เริ่มต้น โหลดไฟล์ที่ผมฟังไปก่อนก็ได้ แล้วเอาหนังสือมาอ่านตาม ทำบ่อย ๆ หลังจากนั้น ก็ลองไปหาหนังสือพิมพ์ หรือนิยาย มาอ่านออกเสียงเล่นๆ  แล้วลองอัดดู

 

เมื่ออัดเสร็จ ตอ้งลองฟังบ่อยๆ นะ    ฟังไปนานๆ จะเห็นข้อผิดพลาด  พยามเปิดใจเป็นกลางด้วย

เพราะสันดานมนุษย์ เป็นสัตว์ที่เข้าข้างตัวเอง  มักจะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำดีที่สุด แล้วดีมากอยู่แล้ว

ต่อเมื่อมีประสบการณ์และผ่านเวลามา ยอ้นกลับไปดู ผลงานของตัวเอง ก็จะตกใจและขำว่า

ทำไมสิ่งที่เราคิดว่า ดีมากๆ ในตอนนั้น ตอนนี้พอมาดูมาฟัง กลับห่วยแตกอย่างน่าอาย

 

ใครเคยเป็นบ้าง  ผมหละคนหนึ่ง  (กลับไปฟังงานเก่าๆ บางอัน แทบลมใส่ .. อายมากๆ )

แล้วผมก็เห็นคนอีกหลายคนเป็นแบบนี้   ไม่ว่าจะวงการไหน ก็จะเป็นแบบนี้ กันส่วนใหญ่

เวลาทำอะไรก็ตาม ต้องหมั่นเรียนรู้ และศึกษางานของคนอื่นเสมอๆ ด้วย

ผมเห็นคนทำเสียงอ่านหลายคน ไม่เคยฟังเสียงอ่านของคนอื่นเลย   แล้วก็ไม่มีการพัฒนา

คิดเอาแต่ว่า ทำบุญ ทำเป็นธรรมทาน    ก็คิดแต่ว่า ทำไงก็ได้

 

แต่หารู้ไม่ว่า เสียงอ่านจะอยู่ไปอีกไม่รู้กี่ร้อยปี  ถ้าทำดี คนก็ฟังเยอะ

ถ้าทำไม่ดี คนก็ไม่อยากฟัง  เสียของเปล่า ๆ หนังสือดีๆ บางทีเสียดายเนื้อหามาก

แล้วพอทำไม่ดี คนฟังเขาก็เกิดอคติ  เลยพลอยคิดว่า ถ้าฟังเสียงอ่านธรรมะแบบนี้

ต้องน่าเบื่อไปหมด  ทำให้พาลไม่ยอมรับ ไม่อยากฟังที่คนอื่นทำไปด้วย

 

ผมแจกมาเยอะ เจอปฏิกิริยาแบบนี้เยอะมาก ที่เขาคิดว่า มันต้องน่าเบื่อ ไม่น่าฟัง

ก็มีอะไร สงสัย ก็ถามได้นะครับ  ยินดีเสมอ ถ้าว่าง

แต่ก็ควรศึกษาขวนขวายด้วยตนเองให้มากก่อน ก่อนทีจะถามคนอื่น

นิสัยคนส่วนใหญ่สมัยนี้ ชอบมักง่าย ไม่ยอมขวนขวายก่อน เอาแต่พึ่งคนอื่นนะ

ถ้าติดขัดจริงๆ  ก็ยินดีเสมอ  แต่อย่าถามเรื่องอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับผม

เจอบ่อยมาก  บางทีเปิดทีวีดู ก็โทรมาถามว่า เพลงในทีวีเพลงอะไร

แบบว่า.. หนักใจซะ.. เห็นผมเป็นสัพพัญญูไปได้   ผมก็ไม่ได้นั่งดูอยู่ด้วยซะหน่อย  สมัยนี้ก็มีแต่คนแปลกๆ จน งง..

 

ขอให้มีความสุขกับการอัดเสียงอ่าน  และร่วมกันเผยแพร่ธรรมเป็นทานนะครับ

 

 

ปล. ยังมีเทคนิคและคำแนะนำอีกหลายอย่าง ที่นึกไม่ออก  แต่แค่นี้ก็คงปวดหมองกันแล้วหล่ะ 555

หมายเหตุ  การอัดเสียงหนังสือธรรมะบ่อยๆ จะทำให้เสียงคุณดีขึ้นเรื่อยๆ ในชาตินี้แหละ 

ใครสนใจติดต่อส่งข้อความมาส่วนตัวจะดีกว่านะครับ 

 ติดต่อโจโฉ

 
 หน้าแรก  รวมเสียงโจโฉ  บทความ  ภาพกิจกรรม  สนับสนุนโจโฉ  ติดต่อ
view